คนสุรินทร์ ออกแถลงการณ์ หลังหารือผลกระทบแก้ พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชี้ อาจมีเนื้อหาที่ลดทอนการควบคุม
เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2567 ที่ห้องประชุมสวนป่าวรีสอร์ท ตำบลนอกเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ตัวแทนบุคลากรทางการแพทย์ คณาจารย์ นักวิชาการ และนักการศาสนา จังหวัดสุรินทร์ ได้จัดกิจกรรมสัมมนา หารือ แสดงความห่วงใยและเสนอแนะแนวทางเกี่ยวกับร่าง พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล‑ฉบับใหม่ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ…โดยอาจมีเนื้อหาที่ลดทอนการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ การขยายเวลาการจำหน่าย การอนุญาตให้โฆษณา ฯลฯ
ทั้งนี้บุคลากรทางการแพทย์ คณาจารย์ นักวิชาการ และนักการศาสนา ได้ร่วมหารือและออกแถลงการณ์ ด้วยความห่วงใยและเสนอแนะความเห็นต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี รวมถึงพรรคการเมืองทุกพรรค ดังนี้
1. ด้านเศรษฐศาสตร์ : เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นสินค้าที่เสรีภาพในการบริโภคของบุคคล สามารถก่อให้เกิดความเสียหาย รวมถึงละเมิดต่อสิทธิบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น การถูกล่วงละเมิดทางเพศ การบาดเจ็บ/ทุพพลภาพ/เสียชีวิตจากการเมาแล้วขับ การถูกทำความรุนแรงทางร่างกาย ฯลฯ
2. ด้านการแพทย์ : การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสมองที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเรียนรู้และจดจำ โดยการดื่มในระดับสูง อาจทำให้พัฒนาการของสมองบกพร่องอย่างถาวร รวมทั้งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคและมีผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นหนึ่งในสาเหตุการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ทั่วโลก
3. ด้านสังคมศาสตร์ : การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างไร้ขอบเขต ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ดื่มและครอบครัว เพราะการใช้จ่ายด้านนี้ หมายถึงค่าเสียโอกาสในการนำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้ในสิ่งจำเป็น การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงมักส่งผลต่อเนื่องถึงปัญหาสังคมอื่นๆ อาทิ ปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาหนี้ครัวเรือน ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาอาชญากรรม
4. ด้านศาสนา : เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าที่ผิดหลักคำสอนของทุกศาสนา เมื่อพิจารณาศาสนาพุทธ การรักษาศีลข้อ 5 มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการดื่มสุราทำให้ขาดสติ จนเป็นเหตุให้ผิดศีลข้ออื่นๆ.