ข่าวภูมิภาค

ราวปาฏิหาริย์ เฮ! ได้พระงากลับคืนมา หลังถูกขโมยไปจากวัดนาน 13 ปี

มุกดาหาร – ชาวบ้านชะโนดดีใจ ได้พระงากลับคืนมา หลังถูกขโมยไปจากวัดมโนภิรมย์ ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.2554 ล่าสุด 15 ก.พ. 2567 ได้คืน รวมระยะเวลา 13 ปี

20 ก.พ. 2567 ว่าที่ร้อยตรีเอกวัฒนา คงคาน้อย นายอำเภอหว้านใหญ่ พ.ต.อ.เจด็จ ปรีพูล ผกก.สภ.หว้านใหญ่ พร้อมด้วยหน่วยงานราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านชะโนด ได้ทำพิธีรับพระงา ซึ่งเป็นงาช้างได้แกะเป็นรูปพระลงบนงาได้จำนวน 8 องค์ มีความยาวประมาณ 1.20 เมตร จำนวน 1 งา ได้เก็บไว้ภายในวิหารวัดมโนภิรมย์ บ้านชะโนด ตำบลชะโนด อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ก.พ.2554 ที่ผ่านมา ได้มีโจรขโมยไปจากวัดดังกล่าว ชาวบ้านได้เข้าแจ้งความที่ สภ.หว้านใหญ่ และได้ตามหามาเรื่อย ๆ จนได้สร้างเพจขึ้นมาชื่อเพจ “ ทวงคืนพระพุทธรูปงาช้าง วัดมโนภิรมย์ อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร ” ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2567 ได้รับแจ้งจากสถานีตำรวจนครบาลบางนา ให้ทางตำรวจ สภ.หว้านใหญ่ ไปรับพระงา ซึ่งมีคนเอามาคืนให้ รวมระยะเวลที่หายไปจำนวน 13 ปี ส่วนงาอีก 1 ข้าง ปัจจุบันได้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร

ว่าที่ร้อยตรีเอกวัฒนา คงคาน้อย นายอำเภอหว้านใหญ่ กล่าวว่า สำหรับพระงาของวัดมโนภิรมย์ เรื่องความปลอดภัยกว่าจะติดตามมาได้ในครั้งนี้ใช้เวลานานมาก แต่ในการส่งมอบให้กับทางวัดต้องมีเงื่อนไข โดยให้ทางวัดทำที่เก็บรักษาไว้ในที่มั่นคงและปลอดภัย แต่ในวันนี้ต้องเก็บรักษาพระงาไว้ที่ สถ.หว้านใหญ่ก่อน จนกว่าจะสร้างที่เก็บเสร็จแล้วค่อยนำไปประดิษฐานที่วัดมโนภิรมย์ต่อไป.

ด้าน นายดวงเด่น วงศ์ราศรี กำนันตำบลชะโนด เปิดเผยว่า ช้างชื่อ นาเคน เจ้าเมืองเวียงจันทน์ได้พระราชทานให้มา สมัยก่อนมีพระสงฆ์ไปบวชเรียน พอเรียนเสร็จเจ้าเมืองเวียงจันทน์ได้พระราชทานช้างนาเคน พร้อมช่างหลวง 3 คน และอุปกรณ์มาสร้างวัด โดยให้ช้างนาเคนบรรทุกสิ่งของมา ต่อมาเมื่อช้างนาเคนล้มลง งาข้างหนึ่งเอาไปถวาย สมเด็จ ร.3 ปัจจุบันงาข้างนั้นอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ และอีกข้างหนึ่งอยู่ที่วัดมโนภิรมย์ได้เก็บไว้ ทางพระสงฆ์ได้แกะสลักเป็นรูปพระ 8 องค์ ประดิษฐานไว้ที่วัด ปัจจุบันวัดมีอายุ 336 ปี

กำนันตำบลชะโนด เปิดเผยอีกว่า สำหรับพระงา ถูกขโมยเป็นครั้งที่ 3 ที่ผ่านมาหายไป 2 ครั้ง ทุกครั้งที่หายไปได้คืนมา พระงาที่หายทางพิพิธภัณฑ์แจ้งมาเพราะพระงาได้ขึ้นทะเบียนไว้ แจ้งมาว่ามีคนนำพระมาคืน แจ้งให้ทางวัดไปรับมา โดยพระงาหายในคืนวันที่ 15 ก.พ. 2554 และได้คืนวันที่ 15 ก.พ. 2567 ครบรอบ 13 ปี ชาวบ้านชะโนดก็ดีใจ เป็นพระคู่บ้านคู่เมือง และเป็นคำขวัญของอำเภอหว้านใหญ่ ( แดนพระพุทธรูปงาช้าง พระปางไสยาสน์ หาดมโนภิรมย์เพลินตา โสภาแก่งกะเบา ) และเป็นพระที่มีชาวบ้านรู้จัก และชาวบ้านก็นับถือ ส่วนขั้นตอนต่อไป จะได้ปรึกษาเจ้าหน้าที่ตำรวจและชาวบ้าน ว่าจะทำเป็นตู้นิรภัย เพื่อเป็นกันขโมย และเป็นการเตือนถ้าหากถูกขโมย แต่ก็เป็นปาฎิหาริย์คืนมาได้ 3 ครั้ง 3 ครา

สำหรับประวัติพระงา วัดมโนภิรมย์ บ้านชะโนด อ.หว้านใหญ่ จ.มุกดาหาร เป็นวัดที่สร้างขึ้น โดยพระอุปัชฌาย์หอ และพระครูกัสสปะ ซึ่งพระเถระทั้งสองรูป เป็นที่ทรงเลื่อมใสศรัทธา ของเจ้ามหาชีวิตนครเวียงจันทน์ เมื่อครั้งที่ได้กราบทูลลากลับบ้านเกิดที่บ้านชะโนด อ.หว้านใหญ่ จ.มุกดาหาร เจ้ามหาชีวิตนครเวียงจันทน์ ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องก่อสร้าง พร้อมช่างหลวงอีก 3 คน ล่องแพมาตามแม่น้ำโขง และได้ลงมือก่อสร้างโบสถ์และวิหารวัดมโนภิรมย์ เมื่อวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ปีมะเส็ง ตรงกับปี 2296 สร้างแล้วเสร็จในอีก 3 ปีต่อมา

ในระหว่างปี 2447 บ้านชะโนดได้เผชิญกับไฟป่าที่โหมกระหน่ำรุนแรงครั้งใหญ่ บ้านเรือนและวัดมโนภิรมย์ที่ก่อสร้างด้วยฝีมือช่างหลวงที่สวยงาม ถูกพระเพลิงเผาผลาญไปด้วย รวมไปถึง กุฏิ วิหาร ศาลาการเปรียญพระพุทธรูป ตู้พระไตรปิฎก และสิ่งของมีค่าเก่าแก่ ล้วนถูกไฟไหม้เสียหายหมดสิ้น จากนั้นอีก 1 ปี ชาวบ้านได้นิมนต์พระอุปัชฌาย์บุ นันทวโร ซึ่งมีความสามารถด้านศิลปกรรมสถาปัตยกรรม ทำการซ่อมแชมปฏิสังขรณ์วัดมโนภิรมย์ ใช้เวลาซ่อมแซมนานถึง 6 ปี ในระหว่างนั้น พระอุปัชฌาย์บุ นันทวโร จึงได้นำงาช้างที่ยังเก็บรักษาไว้ในวัดมโนภิรมย์ แกะเป็นรูปพระลงบนงาได้จำนวน 8 องค์ เรียกว่า “พระงา” พระงา เป็นพระที่แกะจากงาช้างที่อยู่ในวัด ชื่อ ช้างเคน เป็นรูปพระ 8 องค์ พระพุทธรูปปัจจุบันประดิษฐานอยู่ภายในหอพระของวัดมโนภิรมย์ อ.หว้านใหญ่ จ.มุกดาหาร ตามประวัติเดิมช้างพลายใหญ่ที่ชื่อเคน ซึ่งชาวบ้านได้นำมาถวายวัด โดยพระสงฆ์กับชาวบ้านช่วยกันเลี้ยงไว้เมื่อประมาณ 300 ปีที่ผ่านมา ซึ่งบางตำนานได้เล่าไว้ว่าเป็นช้างที่ถูกพลัดมาตามน้ำ (เนื่องจากในสมัยนั้นท้องที่แห่งนี้ยังเป็นป่าดงดิบจึงพบเห็นสัตว์ป่าอยู่ เสมอ) และชาวบ้านได้ช่วยเหลือนำขึ้นมาจากน้ำและได้นำมาถวายวัดบางตำราได้กล่าวไว้ว่า ข้างพลายใหญ่เป็นช้างหลวงที่ถูกน้ำพัดมาและชาวบ้านได้ช่วยเอาไว้ เมื่อเจ้ามหาชีวิตนครเวียงจันทน์ ทรงทราบ จึงได้ทรงประเคนมอบช้างหลวงเชือกดังกล่าว ถวายให้กับวัดมโนภิรมย์ จึงมีชื่อว่า “ช้างเคน” และได้เลี้ยงไว้เป็นช้างเลี้ยงของวัดมโนภิรมย์จนชั่วอายุขัย

ในสมัยที่ท่านอุปัชฌาย์หอ ยังมีชีวิตอยู่ ตรงกับในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ภายหลังที่ได้บรรพชาเป็นสามเณรจนกระทั่งอายุ 20 ปี จึงได้บวชเป็นพระ ศึกษาอยู่ที่วัดมโนภิรมย์ ท่านหอ ก็ได้ เข้าไปศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ เมื่อท่านหอ ได้กลับมาเยี่ยมบ้านที่วัดมโนภิรมย์ ท่านหอจึงได้นำงาของช้างเคน 1 ข้าง เข้าเมืองหลวง เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เจ้าฟ้ามงกุฎอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร

ซึ่งงาข้างที่ท่านหอ ได้นำลงมาถวายในยุคสมัยนั้น ปัจจุบันได้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร ส่วนงาอีก 1 ข้าง ยังคงเก็บรักษาไว้ภายในวัดมโนภิรมย์

จนกระทั่งพระอุปัชฌาย์บุ นันทวโร ได้นำงาช้างเคนที่เก็บรักษาไว้ในวัดนำมาแกะสลักเป็นรูปพระเจ้าพระองค์ ด้วยตัวท่านเอง ปัจจุบันยังคงประดิษฐานไว้ภายในวิหารวัดมโนภิรมย์ ให้ประชาชนได้สักการะบูชามาจนถึงบัดนี้ ภายในวิหารของวัดมโนภิรมย์จะมีพระประธาน พระพุทธรูปเก่าแก่อยู่หลายองค์ ประกอบด้วย พระองค์ตื้อ พระองค์แสน พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร และพระงา ในอดีต “พระงา” เคยถูกโจรกรรมไปหลายครั้ง แต่ผู้ที่ขโมยไปได้นำกลับคืนมาทุกครั้งไป นับเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดที่เล่าสืบทอดกันมา

พระงาเป็นพระประจำวัดมโนภิรมย์ ที่เลื่องลือในเรื่องการบนบานศาลกล่าว ในเรื่องขอให้พบสิ่งของที่หาย และขอให้ มีหน้าที่การงานที่ดีรุดหน้ายิ่งขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ต่างก็ประสบผลสำเร็จได้ตามที่บนบาน จนเป็นที่กล่าวขานไปทั่วสารทิศของประชาชนทั้งสองฝั่งโขง สิ่งของที่นำมาบนบานก็ไม่ได้มีราคาค่างวดอะไรมากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นหอผึ้งซึ่งชาวบ้านในท้องถิ่นต่างก็รู้จักกันดี.

ภาพ-ข่าว อนุศักดิ์ – เสาวภา แสนวิเศษ ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดมุกดาหาร

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *