ชุมชนบ้านกะเพอโร ทำบุญกองข้าว ประจำปี 66 เพื่อระลึกคุณของพระแม่โพสพ
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 18.00 น. ณ ศาลเอนกประสงค์บ้านกะเพอโร ต.ตาวัง อ.บัวเชด จ.สุรินทร์ น.ส.สรัย ขันธรัตน์ ผู้ใหญ่บ้าน นายจรูญ ทวีเกิดผู้อวุโสของหมู่บ้าน พร้อมผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้เฒ่าผู้เเก่ เเละคนชุมชน ร่วมประเพณีงานบุญกองข้าว หรือบุญข้าวเปลือก พร้อมทำทำบุญหมู่บ้านไปด้วยกัน ประจำปี 2566 ณ ชุมชนเเห่งนี้ มีหลายภาษาถิ่นหลายชนเผ่าได้อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน อย่างปรกติสุข ไทย เขมร กวย ลาว
งานกองบุญข้าวนี้ เป็นประเพณีโบราณที่สืบทอดต่อกันมาช้านานของชุมชนบ้านกะเพอโร ต.ตาวัง อ.บัวเชด จ.สุรินทร์ หลังจากหมดฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว เพื่อเป็นการระลึกคุณของพระแม่โพสพ ที่ทำให้ชาวบ้านมีอยู่มีกิน ชาวบ้านนจำข้าวเปลือกมากองรวมกัน มีการสู่ขวัญข้าวบางพื้นที่เรียกบุญข้าวจี่ โดยแบ่งจากส่วนของตนมากองรวมกันไว้ที่ลานที่จัดเอาไว้ หลังจากเสร็จพิธีทางศาสนาแล้วใน ตอนกลางคืนก็จะมีการเฉลิมฉลอง พิธีสู่ขวัญข้าว เชื่อกันว่าจะทำให้เกิด ศิริมงคลต่อการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน กองข้าวที่ ชาวบ้านนำมารวมกันไว้ เป็นสัญญาลักษณ์ที่แสดงถึงความมีน้ำใจ ชอบทำบุญทำกุศล และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทั้งยังหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ของผลผลิตในในปีนั้นๆ อีกด้วย กองข้าว ที่นำมารวมกันกองใหญ่ก็จะหมายถึงความศรัทธาและมีน้ำจิตน้ำใจของผู้คนในหมู่บ้านนั้น และก็แสดงว่าฝนฟ้าในปีนั้นตกตามฤดูกาล น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ดีผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้จึงมากพอที่จะให้ ชาวบ้านแบ่งปันมาทำบุญ ที่เหลือออกจำหน่ายเพื่อเป็นกองทุนของหมู่บ้าน
ประเพณีบุญกองข้าวของคนอิสาน จัดทำขึ้นในเดือนสาม ตรงกับขึ้นสามค่ำของทุกปี ก็เพราะคนอีสานเชื่อว่า ในเดือนสาม ขึ้นสามค่ำของทุกปีฟ้าจะไขประตูฝน ฟ้าจะร้องฝนจะตก คนโบราณจะคอยสังเกตเสียงของฟ้าร้อง ว่าร้องมาจากทางทิศใด เพื่อมาทำนายน้ำฝนว่าจะมากหรือน้อย เพื่อเตรียมตัวรับกับสถานการณ์น้ำในฤดูกาลทำนาในปีหน้า
งานประเพณีบุญกองข้าว เป็นประเพณีบุญที่เปิดโอกาสให้ชาวนาในท้องถิ่นนั้นๆ ได้ทำบุญร่วมกัน หลังจากที่เสร็จสิ้นภาระในการเก็บเกี่ยวข้าวในนา ดังนั้นช่วงเวลาในการทำบุญกุ้มข้าวใหญ่ จึงกำหนดเอาเวลาระหว่างเดือนยี่ถึงเดือนสาม การทำบุญนั้นชาวนาทุกคนจะมาร่วมเป็นเจ้าภาพ
จุดมุ่งหมายของการทำบุญกองข้าวใหญ่คือ เพื่อร่วมกันจัดหาทุนทรัพย์ให้แก่ทางวัดหรือเพื่อเป็นกองทุนในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเเละหมู่บ้าน ในการบริจาคคราวนี้ชาวบ้านจะไม่บริจาคเงินแต่จะบริจาคเป็นข้าวเปลือก อันเป็นผลผลิตจากน้ำพักน้ำแรงของตนเป็นประการที่หนึ่ง ประการที่สองก็เพื่อจะได้ทำบุญด้วยข้าวในยุ้งของตนเอง.
พูนสิน ยั่งยน รายงาน