ข่าวภูมิภาค

นอภ.ยางตลาด ปิ๊งไอเดีย..ตั้งธนาคารพันธุ์ข้าวช่วยชาวนา ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต

วันที่ 18 ธันวาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณลานข้าว ด้านหลังที่ว่าการอำเภอยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นายเอกรัตน์ มิสา นายอำเภอยางตลาด พร้อมด้วยนายสุขสันต์ ภูทองทิพย์ กำนัน ต.คลองขาม ตรวจสอบคุณภาพเมล็ดข้าวเหนียว ที่ได้จากการเกี่ยวมือ และมัดเป็นฟ่อนกองรวมกัน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนทำการตี (ฟาดหรือนวด) ด้วยแรงงานคน หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตจากแปลงสาธิต และได้จากการรวบรวมของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเกษตรกร ที่คัดเลือกสายพันธุ์มาอย่างดี และผ่านการคัดสรรจากนักวิชาการเกษตร

นายเอกรัตน์ มิสา นายอำเภอยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า  ประชาชนในพื้นที่ 15 ตำบล ประกอบอาชีพทำนาเป็นหลัก พื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้านแหล่งน้ำ จากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวหรือเขื่อนลำปาว แต่ประสบปัญหาต้นทุนการผลิตต่อไร่สูง และได้ผลผลิตต่อไร่ค่อนข้างต่ำ จึงมีแนวคิดที่จะลดทุน เพิ่มผลผลิต เชิญชวนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มนาแปลงใหญ่ ใช้พื้นที่ว่างด้านหลังที่ว่าการอำเภอประมาณ 2 ไร่ ทำนาอินทรีย์ โดยใช้ข้าวเหนียวพันธุ์เขาวง โดยเริ่มต้นในฤดูกาลผลิตที่ผ่านมา ช่วยกันดูแลแปลงนาข้าวทุกขั้นตอน ตั้งแต่หว่านกล้า ปักดำ บำรุง เก็บเกี่ยว

นายเอกรัตน์กล่าวว่า เมล็ดข้าวเปลือกเหนียวเขาวงที่ได้ดังกล่าว ตั้งชื่อให้ว่า “พันธุ์บ้านยาง” โดยจะจัดแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ 1.สีเป็นข้าวสาร โดยจะจัดหาโรงสีขนาดเล็กมาตั้งไว้บริการสีข้าว ทำการบรรจุถุง เพื่อนำไปมอบให้ครัวเรือนยากไร้ในโอกาสต่างๆ  และ 2.นำข้าวเปลือกเข้าธนาคารพันธุ์ข้าวเปลือก เพื่อให้ผู้นำชุมชน หรือเกษตรกรมายืมไปขยายพันธุ์ ซึ่งจะร่วมกันกำหนดระเบียบ กฎเกณฑ์กันอีกทีว่ามีเงื่อนไข และการบริหารจัดการอย่างไร รวมทั้งรณรงค์ทำนาอินทรีย์ ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตข้าว ลดทุนการทำนา และได้ผลผลิตที่ปลอดภัยอีกด้วย

ด้านนายสุขสันต์ ภูทองทิพย์ กำนัน ต.คลองขาม อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวคิดของนายเอกรัตน์ มิสา นายอำเภอยางตลาด “นายอำเภอพาทำ” โดยได้ร่วมกับผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ 18 หมู่บ้าน และพี่น้องที่ประกอบอาชีพทำนา ขับเคลื่อนการทำนาอินทรีย์ เริ่มตั้งแต่งดการเผาตอซังข้าว เลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย หมู เป็ด ไก่ เพื่อที่จะได้ปุ๋ยคอกไปปรับปรุงบำรุงดิน ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีที่ราคาสูง ซึ่งปัจจุบันกระสอบละกว่า 1,000-1,500 บาททีเดียว

นายสุขสันต์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังจะได้ฟื้นฟูประเพณี “ลงแขก” ทำนา หรือ “นาวาน” คือเชิญชวนญาติพี่น้อง หรือผู้ที่มีแปลงนาใกล้เคียงกัน มาร่วมทำนาช่วยกันแบบหมุนเวียนกันไป ทั้งไถนา หว่านเมล็ดพันธุ์ ถอนกล้า ปักดำ ถึงขั้นตอนการเกี่ยวข้าว ใครมีกับข้าวกับปลาอะไรก็นำมาสู่กันกินแบบฉันท์พี่น้อง ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดค่าแรงงานและรายจ่ายแล้ว ยังเป็นกิจกรรมที่สานสร้างความสัมพันธ์ในหมู่คณะได้เป็นอย่างดี สำหรับพื้นที่ ต.คลองขามนั้น ตนจะนำพาผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้าน ดำเนินการ “ลงแขก” ทำนาอย่างจริงจัง และเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยจะเริ่มทันทีในการทำนาปรัง ในฤดูแล้งที่กำลังจะเริ่มต้นนี้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *