อำเภอสังขะ พร้อมส่งเสริม ‘กระแซปีร์’ หลังผ่านการประกวดระดับประเทศและได้การรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม 5 ดาว
วันที่ 28 มกราคม 2566 เวลา 11.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายสันติ โอฆะพนม นายอำเภอสังขะ นางสงกรานต์ โอฆะพนม ประธานแม่บ้านมหาดไทยอำเภอสังขะ เยี่ยมชมและให้กำลังใจกลุ่มทอผ้าไหม บ้านด่านเจริญ บ้านหมื่นชัย บ้านโนนสง่า ต.กระเทียม อ.สังขะ จ.สุรินทร์ โดยมีนายสมบัติ เพ็ชรกล้า นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกระเทียม นายสหภาพ บุญครอง หัวหน้าสำนักปลัด พร้อมเจ้าหน้าที่และอาจารย์บันเทิง ว่องไว ให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชมการออกแบบผ้าไหม การทอผ้าไหมแบบพื้นเมือง ซึ่งมีลายผ้าไหมแบบพื้นเมืองที่ชาวบ้านนิยมใส่กันทั่วไป และลายผ้าไหมแบบสมัยใหม่ เพราะปัจจุบันนี้มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสนใจมาใส่ผ้าไหมเป็นจำนวนมากมากขึ้น มีการนำผ้าไหมไปออกแบบเพื่อโชว์ในงานต่างๆร่วมทั้งมีการนำผ้าไหมให้นักแสดงสวมใส่ในการถ่ายละครเช่นละครเรื่องนาคีจนเป็นที่โด่งดังและมีผู้คนจำนวนมากที่หันมาสนใจผ้าไหม
นายสันติ โอฆะพนม นายอำเภอสังขะ กล่าวให้สัมภาษณ์ว่าการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของตำบลกระเทียม เป็นการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นไม่ให้สูญหายไป เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ผ้าไหมของตำบลกระเทียมถือว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ร่วมทั้งมีลวดลายที่สวยงามโดดเด่น เป็นศูนย์ร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์ในท้องถิ่นคือ กูย เขมร ลาว ถือเป็นข้อดีที่ตำบลกระเทียมมีปราญชาวบ้านที่มีความรู้ความสามารถในการออกแบบผ้าไหม และสิ่งสำคัญคือ การย้อมสีธรรมชาติ ย้อมครั่ง ปะโหด เข คราม และหมักโคลน ถือเป็นเอกลักษณ์ของผ้าไหมตำบลกระเทียม อำเภอสังขะ และหน่วยงานต่างๆ พร้อมให้การสนับสนุนและส่งเสริมทุกรูปแบบ
สำหรับ บ้านด่านเจริญ บ้านหมื่นชัย บ้านโนนสง่า ตำบลกระเทียม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ เป็นชุมชนที่มีการทอผ้าไหมเป็นอาชีพหลัก มีความชำนาญด้านการย้อมไหมด้วยสีย้อมผ้าจากธรรมชาติ และการทอผ้าปูม ผ้ามัดหมี่ของคนไทยเชื้อสายเขมร และเชื้อสายกูย และผ้าทอเส้นพุ่งแบบสามตะกอ มีลวดลายเด่นชัด มีการพัฒนาลวดลายใหม่ๆให้มีความแปลกและแตกต่าง เพื่อดึงดูดความสนใจของคนรุ่นใหม่และให้สามารถพัฒนาผ้าไหมออกไปสู่ตลาดได้กว้างมากขึ้น โดยอาจารย์บันเทิง ว่องไว ผู้อนุรักษ์การทอผ้าไหมพื้นเมือง ผู้ที่สร้างสรรค์ผ้าไหมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นสวยงาม สร้างชื่อเสียงในการทอผ้าไหมที่ใช้คลุมพระแท่นวัชรอาสน์พระพุทธเจ้าใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ พุทธคยา ประเทศอินเดีย เป็นรูปเสือสุพรรณหงส์ และถือเป็นผ้าไหมที่ยาวที่สุดในโลกอีกด้วย
สำหรับผ้าไหมที่ตำบลกระเทียม มีคุณลักษณะพิเศษ และมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ตามประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผ้าไหมของตำบลกระเทียมเป็นสินค้าส่งออก และเป็นที่สนใจของคนทั่วไป ที่แสดงถึงวัฒนธรรมและเป็นมรดกผ้าที่มีความเกี่ยวพันกับชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตาย มีการสืบต่อ สืบทอด ในเรื่องราวของภูมิปัญญาบรรพบุรุษ ผ้าทอแต่ละผืน นอกจากจะเป็นผ้าใช้สอยในชีวิตประจำวันแล้ว ยังสามารถสื่อความหมาย ถึงศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้เป็นอย่างดี.
พูนสิน ยั่งยืน รายงาน