รมว.ยุติธรรม ชื่นชม ชรบ.ศรีสะเกษ เข้มแข็ง จริงจัง ทำปัญหายาเสพติดลด
เมื่อวันที่ 22 ต.ค.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ ร.ร.เขื่อนช้างวิทยาคาร ต.เขิน อ.น้ำเกลี้ยง จ.ศรีสะเกษ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และคณะ ได้เดินทางไปตรวจราชการและตรวจเยี่ยมดูงานด้านการป้องกัน การบำบัดรักษา และการเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และพื้นที่ปฏิบัติงานของชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ต.เขิน อ.น้ำเกลี้ยง จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเมื่อ รมว.ยุติธรรม และคณะ เดินทางมาถึงโรงเรียนเขื่อนช้างวิทยาคาร ได้ไปที่บริเวณลานหน้าเสาธง ชรบ.ได้ตั้งแถวต้อนรับ ซึ่ง รมว.ยุติธรรมได้ให้โอวาท ชรบ. ในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ พร้อมทั้งได้มอบเครื่องดื่ม อาหารแห้งให้แก่แกนนํา ชรบ. เพื่อสร้างขวัญกําลังใจ จากนั้น ได้เดินทางเข้าไปในห้องประชุมของ ร.ร. โดยมี นายอนุพงศ์ สุขสมนิตย์ ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวต้อนรับ และได้นําเสนอผลการดําเนินงานแก้ไขปัญหายาเสพติดในภาพรวม พร้อมทั้งรับชมวีดีทัศน์บรรยายกระบวนการดําเนินงานดำเนินการป้องกัน บําบัดรักษา และเฝ้าระวังยาเสพติดในชุมชน โดยมีคณะ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย นายธเนศ เครือรัตน์ ส.ส.ศรีสะเกษ เขต 1 นายสุระชาติ ชาญประดิษฐ์ส.ส.ศรีสะเกษ เขต 2 นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ ส.ส.ศรีสะเกษ เขต 4 นายอมรเทพ สมหมาย ส.ส.ศรีสะเกษ เขต 5 พร้อมด้วยคณะหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมและให้การต้อนรับ
ซึ่ง พ.ต.ท.ภัทรพล กมล (พี่เลี้ยง ชรบ.) ได้กล่าวสรุปภาพรวมการดําเนินงานตามรูปแบบเขินโมเดล โดยผู้แทน ต.เขิน กล่าวถึงปัญหาอุปสรรคที่พบจากการดําเนินงานในพื้นที่ การเฝ้าระวัง การค้นหาผู้เสพผู้ติดยา การติดตามดูแลช่วยเหลือผู้ผ่านการบําบัดรักษาโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ขณะที่ผู้แทนสาธารณสุขระดับอําเภอ ได้สรุปกระบวนการคัดกรอง การบําบัดรักษายาเสพติด และการติดตามดูแลช่วยเหลือ นายวีระยุทธ์ ดวงแก้ว กำนัน ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ได้กล่าวถึงการนํารูปแบบเขินโมเดล ไปขยายผลในพื้นที่ที่ตนเองรับผิดชอบ
นายอนุพงศ์ สุขสมนิตย์ ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ซึ่งนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชน มีจุดเน้นโดยการส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทในการป้องกัน เฝ้าระวังปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชนมากขึ้น ซึ่งสถานการณ์ยาเสพติดที่ผ่านมา ต.เขิน อ.น้ำเกลี้ยง จ.ศรีสะเกษ พบว่ามีการแพร่ระบาดของยาเสพติดรุนแรง เด็กและเยาวชนเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดจำนวนมาก จนส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ ต้องดำเนินการลดความต้องการใช้ยาเสพติดให้ได้ ซึ่งการเอาชนะยาเสพติดในระดับหมู่บ้าน/ชุมชน ต้องสลายโครงสร้างปัญหาด้วยการลดและขจัดอิทธิพลของกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ทำให้ประชาชนในพื้นที่มั่นใจที่จะเข้าร่วมแก้ไขปัญหาเป็นอันดับแรก พร้อมทั้งดำเนินมาตรการ ทุกด้าน ทั้งการป้องกัน บำบัดรักษา ปราบปราม และพัฒนาประสานสอดคล้องด้วยกลไกและกระบวนการดำเนินงาน โดยหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ควบคู่กับพลังภาคประชาชนที่จะรักษาพื้นที่ในระยะต่อไป
นายอนุพงศ์ สุขสมนิตย์ ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวต่อไปว่า จ.ศรีสะเกษ ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ส.โดยสำนักงาน ป.ป.ส.ภาค 3 ได้ขับเคลื่อนการจัดตั้งชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ขึ้นมา โดย ชรบ. ทุกคนต่างปฏิบัติหน้าที่กันอย่างแข็งขันและจริงจัง ทำให้ปัญหายาเสพติดในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ตั้งแต่ปี 2564-2566 ลดลงร้อยละ 34.4 คนในหมู่บ้าน/ชุมชน หันมาเห็นความสำคัญและร่วมมือกันดูแลสอดส่อง เฝ้าระวังปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในหมู่บ้าน อีกทั้งกลไก ชรบ. ยังเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยกดดันผู้ค้า ผู้เสพด้วยสันติวิธี จนทำให้ปัญหาในชุมชนเริ่มคลี่คลายและกลับมาเข้มแข็งอีกครั้งด้วยมือของคนในชุมชนเพื่อคนในชุมชน ผู้ผลิต/ผู้ค้ายาเสพติดจะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจังและเปิดโอกาสให้บุคคลที่เคยเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ทั้งจากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคม และผลประโยชน์ ชักนำให้ละเลิกพฤติกรรม ด้วยการปรับเปลี่ยนทัศนคตและปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตตามแนวทางการสร้างชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ประชาชนชาวศรีสะเกษ สามารถแจ้งเบาะแสยาเสพติดได้ที่ สายด่วน ป.ป.ส 1386 และที่โทร 191 หรือที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน.
ภาพ-ข่าว ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าวประจำ จังหวัดศรีสะเกษ