ข่าวภูมิภาค

ศุลกากรภาคที่ 2 แถลงผลจับกุม พร้อมทำลายบุหรี่ไฟฟ้า และสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้า กว่า 50 ล้านบาท

วันที่ 12 กรกฎาคม 2566 เวลา 10.00 น. ที่ สำนักงานศุลกากรภาคที่ 2 ตำบลหนองกอมเกาะ อำเภอเมืองหนองคายจังหวัดหนองคาย  นายราชันย์  ซุ้นหั้ว  ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย   เป็นประธานแถลงผลการจับกุมและทำลายของกลางประเภทบุหรี่ไฟฟ้าพร้อมอุปกรณ์ และสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้า ซึ่งเป็นของต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยสำนักงานศุลกากรภาคที่ 2 และศุลกากรหนองคาย ได้จับกุมและตรวจยึดได้ตกเป็นของแผ่นดินตามกฎหมายศุลกากรและมีการดำเนินคดีจนถึงที่สุดแล้ว จำนวน 20 คดี  จากจำนวน 28 คดี รวมทั้งสิ้นเป็นจำนวน62,888 ชิ้น มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ ประมาณ 40 ล้านบาท  ของกลางมี

บุหรี่ไฟฟ้าพร้อมอุปกรณ์ ประกอบด้วยเครื่องบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า หัวบุหรี่ไฟฟ้าที่ใช้สำหรับดูดและอุปกรณ์อื่น19 คดี จำนวน 60,657 ชิ้น,สินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้า มีกระเป๋าและอื่น ๆ 1 คดี จำนวน 2,231 ชิ้น ทำลายโดยวิธีบด ตัด ทำลายให้เสื่อมสภาพ เพื่อไม่ให้สามารถนำกลับมาใช้งานได้อีก โดยมี นายพร้อมชาย สนิทวงศ์ ณ อยุธยาผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรภาคที่ 2 , นายยุทธนา ศรีตะบุตร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคาย ,ตำรวจภูธรจังหวัดหนองคาย, ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดหนองคาย, กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดหนองคาย(ท.), หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง เขตหนองคาย ,กองบังคับการควบคุมที่ 2 กองกำลังสุรศักดิ์มนตรี และคณะกรรมการทำลายของกลาง ร่วมพิธี ณ สำนักงานศุลกากรภาคที่ 2 จังหวัดหนองคาย 

การตรวจยึดและทำลายของกลางครั้งนี้ ตามนโยบายของอธิบดีกรมศุลกากร นายพชร อนันตศิลป์ ให้เข้มงวดในการป้องกันและปราบปราม สินค้าลักลอบหนีศุลกากร หลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร ของต้องห้ามของต้องกำกัด และสินค้าที่ไม่ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง สำนักงานศุลกากรภาคที่ 2 โดยการสั่งการของ นายพงศ์เทพ บัวทรัพย์ รองอธิบดีกรมศุลกากร รักษาการในตำแหน่ง 

ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร และนายพร้อมชาย สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรภาคที่ 2 ได้มอบหมายให้  นายชนินทร์  ศุภรินทร์ ผู้อำนวยการส่วนควบคุมทางศุลกากร และ นายภาคิน  เทียบคำ หัวหน้าฝ่ายสืบสวนและปราบปราม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนและปราบปราม ส่วนควบคุมทางศุลกากร สำนักงานศุลกากรภาคที่ 2 ร่วมกับ ด่านศุลกากรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และหน่วยสืบสวนปราบปรามประจำพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ฝ่ายสืบสวนปราบปรามที่ 2 ส่วนสืบสวนปราบปราม 1 กองสืบสวนและปราบปราม ได้จับกุมและตรวจยึดของกลาง ดังกล่าว ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ในรอบ 3 ไตรมาส (1 ตุลาคม 2565 ถึง 30 มิถุนายน 2566) รวมทั้งสิ้น 28 คดี มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจรวม ประมาณ 50 ล้านบาท.

ภาพ-ข่าว พันธลภ  แสงทอง/ปวีณา  อินทะชัย  จังหวัดหนองคาย 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *