เสวนาพัฒนาหลักสูตรต่อเนื่องเชื่อมโยง “Mahasarakham Modern Trade 2566”
(5 ก.ค.66) เวลา 15.00 น.ที่บริเวณงานหอการค้าแฟร์ พื้นที่หน้าห้างเสริมไทยคอมเพล็กซ์ มหาสารคาม หอการค้าจังหวัดมหาสารคาม ร่วมกับ สนง.ศึกษาธิการจังหวัดมหาสารคาม จัดการเสวนาพัฒนาหลักสูตรต่อเนื่องเชื่อมโยง“Mahasarakham Modern Trade 2566” ระหว่างการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา อุดมศึกษา และสถานประกอบการ ภาคีเครือข่ายในจังหวัดมหาสารคาม ภายใต้โครงการส่งเสริมเวทีและประชาคม เพื่อการจัดทำรูปแบบและการพัฒนาหลักสูตรต่อเนื่องเชื่อมโยงการศึกษาขั้นพื้นฐานกับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา จังหวัดมหาสารคาม
ดร.สุวัฒนพงษ์ ร่มศรี รองศึกษาธิกาจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า สืบเนื่องจาก ทางสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดมหาสารคาม ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมเวทีและประชาคมเพื่อการจัดทำรูปแบบและการพัฒนาหลักสูตรต่อเนื่องเชื่อมโยงการศึกษาขั้นพื้นฐานกับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา จังหวัดมหาสารคาม “Mahasarakham Modern Trade ทักษะอาชีพผู้เรียนเมืองตักสิลา” โดยมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ซึ่งในปัจจุบันมีสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการจากทุกระดับ ทุกสังกัด จำนวน 36 สถานศึกษา และมีหน่วยงานและภาคีเครือข่าย จำนวน 8 หน่วยงาน เพื่อร่วมพัฒนาหลักสูตรต่อเนื่อง เชื่อมโยงการศึกษาขั้นพื้นฐานกับอาชีวศึกษา และอุดมศึกษาจังหวัดมหาสารคาม ต่อไป
โดยการเสวนาในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วย ดร.สุวัฒนพงษ์ ร่มศรี รองศึกษาธิการจังหวัดรักษาการศึกษาธิการจังหวัดมหาสารคาม , ผศ.ดร.กิตติชัย เจริญชัย รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวิทยาการจัดการมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม , นางฟ้ารีดาพร บุญคำมี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหันเชียงเหียน , นางริศรา ศิริพรหมโชติ ประธานผู้ประกอบการรุ่นใหม่ YEC หอการค้าจังหวัดมหาสารคาม , นางรจนา บัวศรีภูมิ หน.งานหลักสูตรและการจัดแผนการเรียนการสอน วิทยาลัยอาชีวศึกษามหาสารคาม และนางอรุณรัตน์ รัตนมนตรี ผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผล สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดมหาสารคาม ผู้ดำเนินรายการ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวนับว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทักษะอาชีพของผู้เรียน รวมทั้งกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้มีช่องทาง ทางเลือกการศึกษา ในระดับที่สูงขึ้น พร้อมทั้งสร้างช่องทางอาชีพในรูปแบบที่หลากหลายให้ครอบคลุมผู้เรียนทุกกลุ่มเป้าหมาย
ทั้งนี้ งาน “เทศกาลอาหาร หอการค้าแฟร์ 2023” ครั้งที่ 4 จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 4-10 กรกฎาคม 2566 มีเป้าหมายที่มุ่งเน้นไปถึงผู้ประกอบการกลุ่มต่างๆ อาทิเช่น กลุ่มเกษตรกร/SMEs ผู้มีรายได้น้อย สินค้ากลุ่มเครือข่ายสินค้าโอท็อปกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มสมาชิกพัฒนาชุมชน สินค้าจากกลุ่ม Biz Club สินค้าพื้นบ้าน สินค้าประเภทสมุนไพร อาหารเสื้อผ้า สิ่งของเครื่องใช้ทั่วไป และสินค้าประเภทอื่นๆ ผู้ประกอบการพ่อค้าแม่ค้าในทุกๆ ตลาดที่ต้องการเพิ่มรายได้ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว หลังจากที่ผ่านพ้นวิกฤตโควิด ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดมหาสารคามต่อไป.
ภาพ-ข่าว พิเชษฐ ยากรี จังหวัดมหาสารคาม
เป็นโครงการที่ดีมาก ได้ทราบความต้องการของผู้ประกอบการหน่วยงานต่างๆ ทำให้สถานศึกษาสามารถ จัดการเรียนการสอน ให้ตรงกับความต้องการของ สถานประกอบการ ตลาดแรงงานได้