อ.บัวเชด จัดกิจกรรมถนนวัฒนธรรมสามชนเผ่า บอกเล่าเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์
อำเภอบัวเชด-ชิมอาหารพื้นบ้านโบราณ แต่งกายด้วยเสื้อผ้าประจำชนเผ่า เขมร กวย ลาว พร้อมชมต็วงเขมรใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
วันที่ 31 ธันวาคม 2565 เวลา 09.00 น.ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสุรินทร์รายงานว่า นายบรรลุ สุวรรณดี ปลัดอาวุโสรักษาราชการแทนนายอำเภอบัวเชด เป็นประธานเปิดงาน 3 ชนเผ่าเล่าวิถีชุมชน ชมปราสาทตามอน ณ.บ้านปราสาท ตำบลบัวเชด อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ โดยมีนางนิชฐินันท์ มั่นหมาย ผู้ใหญ่บ้านผู้นำชุมชน3ชนเผ่า และนายชนะชล มูลจันทร์ ประธาน กต.ตร.สภ.บัวเชด ให้การต้อนรับ
นางนิชฐินันท์ มั่นหมาย ผู้ใหญ่บ้านปราสาท ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า บ้านปราสาทเป็นหมู่บ้านเก่าแก่มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ด้วยกันมานานเป็นร้อยปีคือ กลุ่มชาติพันธุ์ กวย ลาว เขมร ซึ่งสมัยก่อนนั้นกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้มีอาชีพจับช้างป่าและอาชีพหาของป่า เช่น ผักหวานป่า น้ำผึ้งป่า หวายป่าตามเทือกเขาพนมดงรักและประกอบอาชีพจักสานไม้ไผ่ทั้งเอาไว้ใช้เองในครัวเรือนและเอาไปจำหน่าย ที่ผ่านมานั้นสามชนเผ่าดังกล่าวจะร่วมกันจัดงานบูชาบรรพบุรุษที่ปราสาทตามอญเป็นประจำทุกปี ส่วนการจัดงานในวันนี้เป็นการเปิดงานถนนวัฒนธรรมสามชนเผ่าเพื่อบอกเล่าเรื่องราวต่างๆของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ จะมีการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์และถวายภัตตาหารพระสงฆ์จำนวน 16 รูป เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วและเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชาวบ้านทุกคน การจัดงานครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านปราสาทเป็นอย่างดี มีการประดับธงผ้าเขมรและธงแมงมุมตลอดสองข้างทางยาวกว่า1กิโลเมตร มีการประดับธงชัยหน้าบ้านทุกหลังคาเรือนเพื่อความเป็นสิริมงคล
นายบรรลุ สุวรรณดี ปลัดอาวุโสรักษาราชการแทนนายอำเภอบัวเชด กล่าวว่า วันนี้มีการยกต็วงชะเนี้ยะเมียร เป็นธงผ้าเขมรซึ่งแปลเป็นไทยว่า ธงชนะมาร ซึ่งมีขนาดใหญ่และยาวที่สุดในประเทศไทย โดยมีความยาวถึง 7 เมตร 8 เซนติเมตร อีกทั้งมีการจัดทำอาหารพื้นบ้านโบราณที่ปัจจุบันนี้หาทานไม่ค่อยได้เแล้ว อาทิเช่น แกงละแวงกระดาม แกงยอดมะพร้าวยอดใส่ปลาย่าง หลามปลาช่อน แกงผักหวานป่า แกงหวายป่า น้ำพริกอีออม บายผกาอำปึล ข้าวเหนียวดำ เป็นต้น ร่วมทั้งการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าประจำกลุ่มชาติพันธุ์
นายชนะชล มูลจันทร์ ประธาน กต.ตร.สภ.บัวเชดกล่สวว่า การจัดงานในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ของพี่น้องทั้ง3ชนเผ่าในพื้นที่ พร้อมเปิดโอกาสให้แต่ละชุมชนเผ่าได้มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ของแต่ละชนเผ่า ตลอดถึงวัฒนธรรมในการดำรงชีพและความเชื่อของตัวเองให้กับบุคคลภายนอกได้รับรู้ และเป็นการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นของอำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์.
ภาพ/ข่าว : พูนสิน ยั่งยืน