เลย จัดโครงการเพิ่มผลผลิตกุ้งแม่น้ำ เพื่อสร้างแหล่งอาหารชุมชนให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์
วันที่ 3 ธันวาคม 2567 เวลา 16.00 น. ที่แม่น้ำเลย บริเวณท่าน้ำบ้านกกม่วงชี ตำบลกุดป่อง อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย นายชัยพจน์ จรูญพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานเปิดโครงการเพิ่มผลผลิตกุ้งแม่น้ำ (กุ้งก้ามกราม) เพื่อสร้างแหล่งอาหารชุมชนใหกลับมามีความอุดมสมบูรณ์ โดยมี นายกิตติคุณ บุตรคุณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย นายประยูร อรัญรุท รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย นายไพรินทร์ ลิ่มเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย นายพยุง เหล็กดี นายอำเภอเมืองเลย นางสิริฉัตร สุนทรวิภาต ประมงจังหวัดเลย ร่วมโครงการฯ
นายชัยพจน์ จรูญพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวว่า ความสำคัญของแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ทุกคนใช้ประโยชน์ซึ่งจากเดิมเป็นแหล่ง น้ำที่ใช้ประโยชน์เพื่อการอุปโภคและบริโภค มาเป็นแหล่งน้ำที่มีศักยภาพในการเพิ่มทรัพยากรกุ้งแม่น้ำ (กุ้งก้ามกราม) ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เนื่องจากกุ้งแม่น้ำเป็นสัตว์น้ำที่ มีมูลค่าสูง และเป็นการสร้างแหล่งอาหารที่มีผลต่อการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ของประชาชน และส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เนื่องจากกุ้งแม่น้ำ (กุ้งก้ามกราม) สามารถสร้าง รายได้และมีมูลค่าสูง และเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมการใช้ประโยชน์ รวมทั้ง การบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำร่วมกันอย่างยั่งยืน และสามารถสร้างงานสร้างอาชีพ ต่อยอดให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่นได้ในอนาคตเพื่อสร้างอาหารและเพิ่มผลผลิตการ ประมงในแหล่งน้ำเพื่อให้ประชาชนโดยรอบได้ใช้ประโยชน์
นางสิริฉัตร สุนทรวิภาต ประมงจังหวัดเลย กล่าวว่า การปล่อยกุ้งวันนี้เป็นดำริของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ที่มอบหมายให้สำนักงานประมงจังหวัดเลย จัดทำโครงการเพิ่มผลผลิตกุ้งแม่น้ำ (กุ้งก้ามกราม) เพื่อสร้างแหล่งอาหารชุมชน ประจำปีงบประมาณ 2568 จำนวน 1,000,000 ตัว (หนึ่งล้านตัว) ในแหล่งน้ำที่ประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์น้ำ ตามมติคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดเลย หรือแหล่งน้ำอื่นที่สำนักงานประมงจังหวัดเลยเห็นว่าเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของกุ้งก้ามกราม เช่น อ่างเก็บน้ำแม่น้ำเลย สาเหตุที่ต้องมีการปล่อยกุ้งแม่น้ำ (กุ้งก้ามกราม) ลงแหล่งน้ำจืด เนื่องจากกุ้งก้ามกรามเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง ไม่สามารถสืบพันธุ์และวางไข่ได้ในแหล่งน้ำจืด ช่วงตัวอ่อนระยะแรกของลูกกุ้งต้องอาศัยอยู่ในน้ำกร่อย แต่เมื่อโตขึ้นสามารถอยู่ในน้ำจืดได้ จึงเป็นเหตุผลว่ากุ้งแม่น้ำ (กุ้งก้ามกราม) ที่มีการจับได้ในแหล่งน้ำจืดเป็นกุ้งที่เกิดจากการปล่อยทั้งหมด โดยมีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อเพิ่มศักยภาพของแหล่งน้ำจืดจากแหล่งน้ำที่ใช้ประโยชน์เพื่อการอุปโภคบริโภคมาเป็นแหล่งน้ำที่มีศักยภาพในการเพิ่มทรัพยากรกุ้งแม่น้ำ (กุ้งก้ามกราม) ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ 2) เพื่อเป็นแหล่งอาหารชุมชนที่มีผลต่อการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ของประชาชน เนื่องจากกุ้งแม่น้ำสามารถสร้างรายได้และมีมูลค่าสูง 3) เพื่อเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วม การใช้ประโยชน์ รวมทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำร่วมกันอย่างยั่งยืน สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ และสามารถต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์ ชุมชนทั้งถิ่นได้ในอนาคต ได้รับการสนับสนุนจากกรมประมง อีกส่วนหนึ่งมาจากเงินบริจาคที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน มูลนิธิ หรือภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง
สำหรับกุ้งก้ามกรามที่ปล่อยวันนี้ได้รับการสนับสนุนพันธุ์จากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ขอนแก่น (เขื่อนอุบลรัตน์) จังหวัดขอนแก่น จำนวน 100,000 ตัว (หนึ่งแสนตัว) การปล่อยกุ้งในวันนี้คาดหวังว่า ในระยะเวลา 6 เดือน หลังจากนี้ประชาชนในจังหวัดเลยจะมีกุ้งแม่น้ำ (กุ้งก้ามกราม) เป็นแหล่งอาหารชุมชนเพิ่มขึ้นอีกชนิดหนึ่ง สามารถลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ครัวเรือน มีความมั่นคงด้านอาหาร และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังคำกล่าวที่ว่า “หาปลา ทั้งวันไม่สู้ได้กุ้งแม่น้ำแค่โลเดียว”.
ภาพ-ข่าว บุญชู ศรีไตรภพ จังหวัดเลย