ข่าวภูมิภาค

ผีตามคนหรือผีตาโขน งานบุญหลวงยิ่งใหญ่เมืองด่านซ้าย

มีประวัติความเป็นมาของ”งานบุญหลวงการละเล่นผีตาโขน “ อ.ด่านซ้าย จ.เลย  เดิมมีชื่อเรียกว่า “ผีตามคน” เป็นเทศกาลที่ได้รับอิทธิพลมาจาก มหาเวสสันดรชาดก ชาดกในพระพุทธศาสนา มีตำนานว่า  เมื่อครั้งพระเวสสันดร และนางมัทรี จะเดินทางออกจากป่ากลับเข้าสู่เมือง มีผีป่าและสัตว์ต่างๆ ที่รักพระเวสสันดรและนางมัทรี พากันแฝงตนมากับชาวบ้านเพื่อมาส่งทั้งสองพระองค์กลับสู่เมือง ด้วยความอาลัย นั่นคือที่มาของ “ผีตามคน” หรือ “ผีตาขน” จนกลายมาเป็น “ผีตาโขน”ในปัจจุบัน

โดยในขบวนแห่ผีตาโขนนั้น ผู้ที่แต่งกายเป็นผีตาโขน จะต้องสวมหน้ากากที่ทำจากหวดนึ่งข้าวเหนียวเก่าๆของชาวอีสาน ผ้าห่ม มุ้งเก่าๆมาเย็บเข้าด้วยกัน ต่อมาวิวัฒนาการปรับปรุงขึ้นจากการที่เป็นที่รู้จุกของชาวไทยและชาวโลกมากขึ้น   โดยแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีสันสดใสหลากสี  เพื่อให้เกิดความสวยวาม พร้อมเพรียง  และออกเดินร่วมขบวนไปกับขบวนแห่งานบุญหลวงการละเล่นผีตาโขน  ในด้านของความเชื่อ

 มีความเชื่ออีกว่า “ประเพณีผีตาโขน เป็นการละเล่นเพื่อบวงสรวงบูชาดวงวิญญาณบรรพชนที่เสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งจะกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองบ้านเมือง ดลบันดาลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ หรือความหายนะก็ได้ ดังนั้นเพื่อให้ดวงวิญญาณบรรพชนพอใจ ชาวบ้านจึงจัดให้มีการละเล่นผีตาโขนขึ้น” อย่างในปัจจุบัน เป็นงานประเพณีประจำปีของชาวอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย  ซึ่งจะจัดขึ้นหลังวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม ที่ถนนหลายๆ สายของอำเภอด่านซ้าย ที่มีบรรยากาศของความสนุกสนานรื่นเริง และมีชื่อเสียงอย่างมากในประเทศไทยเป็นงานประเพณีที่มีมาอย่างยาวนาน แต่ไม่มีหลักฐานปรากฎแน่ชัดว่าจัดขึ้นตั้งแต่ยุคใด ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ได้ปฏิบัติและสืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษ จึงทำให้งานประเพณีผีตาโขน เป็นประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ประจำจังหวัดเลย โดยเป็นการนำโดยนำงานบุญหลวง หรือ บุญผะเหวด งานบุญบั้งไฟ งานบุญซำฮะ (สะเดาะเคราะห์บ้านเมือง) และการละเล่นผีตาโขนมารวมเป็นงานเดียวกัน เพื่อเป็นการบูชาอารักษ์หลักเมือง และพิธีการบวงสรวงดวงวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ ในปัจจุบันนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมต่างๆ มากมายนอกเหนือจากพิธีดั้งเดิมตามประเพณีต่างๆ คือ การแสดงมหกรรมหน้ากากนานาชาติ การประกวดหน้ากากผีตาโขน การประกวดผีตาโขนน้อย การแสดงของชุมชนต่างๆ การออกร้านขายของต่างๆ มหกรรมอาหาร การแสดงศิลปะ วัฒนธรรมท้องถิ่น การแสดงสินค้าพื้นเมือง จึงเป็นงานใหญ่ของจังหวัดเลยที่มีผู้คนมาเที่ยวชมงานอย่างคับคั่งทีเดียว  ในปี 2567 นี้กำหนดจัดงานขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 มิ.ย.67 ณ วัดโพนชัย ถนนพระแก้วอาสาและมีพิธีเปิดงานที่ลานหน้าที่ว่าการ อ. ด่านซ้าย จ.เลย  วันที่ 8 มิ.ย.67

ข่าว/ภาพ  บุญชู  ศรีไตรภพ จ.เลย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *