ขจรศักดิ์ ศรีบุญเรือง นำเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรตรวจสอบหลวงพ่อทองพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ อายุกว่า 700 ปี เตรียมบูรณะซ่อมแซมให้องค์พระมีความสมบูรณ์เหมือนเดิมอย่างเต็มที่ เผยเคยโดนโจรใจบาปขโมยไป 3 ครั้ง แต่ได้กลับคืนมาทุกครั้ง
เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดบ้านด่าน ต.สร้างปี่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ นายขจรศักดิ์ ศรีบุญเรือง ประธานกรรมการ บริษัท นีโอ 727 จำกัด บริษัท นีโอ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด และ บริษัท ยูเวิร์ค 999 จำกัด เป็นคหบดีลูกหลานชาวบ้านด่าน ได้นำ นายทศพร ศรีสมาน ผอ.สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรมคณะเจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากร และผู้แทนของนายประหยัด ถิลา วัฒนธรรม จ.ศรีสะเกษ มาทำการตรวจสอบองค์หลวงพ่อทอง พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ปางห้ามสมุทร อายุประมาณ 700 ปี ที่ชาวบ้านด่านและชาว อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ให้ความเคารพศรัทธามาก โดยคณะเจ้าหน้าที่ได้ขึ้นไปทำการตรวจสอบสภาพขององค์พระอย่างละเอียด ทำการวัดขนาด ตรวจสอบสภาพวัสดุพื้นผิวขององค์พระ พร้อมทั้งตรวจสอบรูปแบบลักษณะต่าง ๆ ขององค์พระ เพื่อเตรียมความพร้อมข้อมูลในการที่จะทำการบูรณะซ่อมแซมองค์หลวงพ่อทอง โดยมี นายทอง คำเอี่ยม อดีต ผอ.ร.ร.มาคอยอำนวยความสะดวกและให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นมาขององค์หลวงพ่อทองให้คณะเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรได้รับทราบ
นายขจรศักดิ์ ศรีบุญเรือง ประธานกรรมการ บริษัท นีโอ 727 จำกัด บริษัท นีโอ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด และ บริษัท ยูเวิร์ค 999 จำกัด เป็นคหบดีลูกหลานชาวบ้านด่าน กล่าวว่า คุณแม่ของตนบอกว่าตอนที่โดนขโมยไปท่านมองเห็นเท้าข้างหนึ่งโดนงัดแงะโดนทำลายเพื่อที่คนร้ายจะนำเอาหลวงพ่อทองไป แต่ว่านำเอาไปไม่ได้ จึงทำให้เท้าของหลวงพ่อทองยังบิ่นอยู่ที่ยังไม่สมบูรณ์ ตนจึงเห็นว่าก่อนที่จะอัญเชิญหลวงพ่อทองขึ้นมาประดิษฐานบนวิหารแห่งนี้ ตนจึงให้ชาวบ้านด่าน ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมศิลปากรว่า จะบูรณะยังไงให้องค์หลวงพ่อทองสมบูรณ์แบบ เพราะว่าหลวงพ่อทองมาประดิษฐานอยู่ที่นี่ 72 ปีแล้วตั้งแต่ปีพ.ศ. 2495 ซึ่งจิตที่เรามีความศรัทธานี้ ตามคำสั่งของคุณแม่ว่าเมื่ออัญเชิญหลวงพ่อทองขึ้นมาบนวิหารแห่งนี้แล้วจะต้องซ่อมบูรณะให้องค์หลวงพ่อทองสมบูรณ์แบบและรักษาสภาพองค์หลวงพ่อให้สมบูรณ์ก่อนที่จะนำขึ้นมา ซึ่งกรมศิลปากรได้ส่งเจ้าหน้าที่มาดูก่อนวันงานที่จะอัญเชิญหลวงพ่อทองขึ้นมาบนวิหารแห่งนี้เมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งทางสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา ก็ได้รับหนังสือจากอธิบดีกรมศิลปากรว่าให้เข้ามาตรวจสอบว่า สภาพของหลวงพ่อทองเป็นยังไงบ้างเพื่อที่จะบูรณะก็เลยเป็นที่มาและที่ไปว่าพออัญเชิญองค์หลวงพ่อทองขึ้นมาบนวิหารแห่งนี้จะเห็นได้ว่าองค์หลวงพ่อทองยังไม่สมบูรณ์แบบ ด้วยจิตของเราที่มีความศรัทธาเราจึงอยากให้บูรณะซ่อมแซมสภาพขององค์หลวงพ่อทองให้สมบูรณ์เหมือนกับที่สภาพที่เคยเป็นมาก่อนหน้านี้ให้ดีที่สุด
นายทอง คำเอี่ยม ซึ่งเป็นอดีต ผอ.ร.ร.ข้าราชการบำนาญ กล่าวว่า องค์หลวงพ่อทองเคยถูกขโมยไปครั้งที่ 1 เมื่อปีพ.ศ. 2507 ซึ่งการขโมยหลวงพ่อทองทุกครั้งจะขโมยช่วงหน้าฝนพระจำพรรษา ซึ่งคนที่มาขโมยไม่สามารถนำเอาองค์หลวงพ่อทองไปได้เพราะว่าเกิดป่วยตายก่อน ครั้งที่ 2 ปี 2511 คนร้ายได้ขโมยหลวงพ่อทองไปทาง อ.ราษีไศลแต่ว่านำเอาไปไม่ได้ซึ่งครั้งที่ 2 นี้จะตัดเอาเฉพาะเศียรไป แต่พอตัดไปใช้เวลาอาทิตย์หนึ่งตัดไม่ได้ คนที่จะตัดเศียรขององค์หลวงพ่อทองก็เกิดป่วยตาย ส่วนคนที่สั่งการก็มีอันเป็นไปทุกคน ทาง สภ.ราษีไศลก็เลยได้นำหลวงพ่อทองไปไว้ที่ศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษและได้แจ้งให้ชาวบ้าน ให้ไปดูว่าเป็นพระของวัดตนเองหรือไม่ ชาวบ้านจึงมอบให้นายพร ศิริพัฒน์ เป็นคนไปดูก็บอกว่าเป็นของวัดบ้านด่านจริง จึงได้อัญเชิญองค์หลวงพ่อทองกลับคืนมาไว้ที่วัดแห่งนี้ ครั้งที่ 3 โดนขโมยไปเมื่อปีพ.ศ. 2523 รู้สึกว่าจะเป็นคนมีสีมาจากทาง จ.ลพบุรี แต่ว่ามาขโมยไปไม่ได้ชาวบ้านรู้ตัวก่อน เป็น 3 ครั้งที่หลวงพ่อทองโดนขโมยแต่คนร้ายไม่สามารถขโมยเอาหลวงพ่อทองไปได้
นายทศพร ศรีสมาน ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา กล่าวว่า วันนี้สำนักงานศิลปากรที่ 10 นครราชสีมาก็ได้ประสานกับทางสำนักช่าง 10 หมู่ของกรมศิลปากร ได้มาตรวจสอบองค์พระพุทธรูปคือมาตรวจสอบสภาพว่าองค์ท่านมีลักษณะอย่างไรมีความชำรุดเสื่อมสภาพตรงไหนที่เราจะต้องนำเอาไปวางแผนสำหรับการบูรณะซ่อมแซม ซึ่งตรงนี้ทางช่าง 10 หมู่ จะต้องไปทำข้อมูลตรงนี้ขึ้นมาซึ่งหลังจากนี้แล้วก็จะมีนักวิทยาศาสตร์ของกรมศิลปากรเป็นส่วนวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์จะลงมาอีกทีมหนึ่งเพื่อมาตรวจสอบในเรื่องของเทคนิควิธีการในการที่จะซ่อมแซมบูรณะองค์หลวงพ่อทองในเชิงวิทยาศาสตร์ว่า จะต้องใช้วิธีการอย่างไร ซึ่งหลังจากทั้งหมดทั้งมวลได้ข้อมูลเรียบร้อยแล้วก็คงจะต้องมาสรุปกันอีกครั้งหนึ่งว่า เราจะดำเนินการบูรณะซ่อมแซมเป็นขั้นเป็นตอนอย่างไรและทำแผนออกมาซึ่งเนื่องจากองค์หลวงพ่อทองเป็นศิลปวัตถุที่กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเอาไว้แล้ว เป็นศิลปะวัตถุสำคัญของชาติซึ่งในการดำเนินการนั้น เราก็ต้องขออนุญาตจากท่านอธิบดีกรมศิลปากรเสียก่อนว่าเราจะดำเนินการในส่วนนี้อย่างไรบ้างมีความเหมาะสมอย่างไร ก็จะต้องมีการเข้าที่ประชุมกันอีกครั้งหนึ่ง
นายทศพร กล่าวต่อไปว่า ซึ่งกำหนดการนั้นคงจะต้องใช้เวลานิดนึง เพราะว่าอย่างวันนี้จริงๆแล้วอยากให้ทีมช่าง 10 หมู่ และทีมนักวิทยาศาสตร์มาด้วยกันแต่ว่ามันไม่ได้เพราะว่าทางต่างคนต่างมีภารกิจซึ่งจะต้องรอไปสิ้นเดือนเมษายนนี้ทีมนักวิทยาศาสตร์อีกชุดหนึ่งจึงจะได้เข้ามาดำเนินการ หลังจากนั้นประมาณช่วงเดือนพฤษภาคมจะได้พูดคุยกันในรอบแรกก่อนว่าข้อมูลเป็นอย่างไร จะทำอย่างไรบ้าง คงจะต้องใช้เวลาเนื่องจากว่างานอย่างนี้เป็นงานละเอียดไม่อยากให้รีบร้อนจะต้องดำเนินการให้ดีที่สุด ////
ภาพ / ข่าว ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าวประจำ จ. ศรีสะเกษ