ข่าวทั่วไป

คึกคัก! ชาวบ้าน 4 ชนเผ่า ลงแขกหว่านปลาสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดี หลังประกอบพิธีกราบไหว้ศาลปู่ตา’บุญข้าวเปลือก’

12 ก.พ.67 เมื่อเวลา 08.00 น.ที่ชัมชนบ้านตาวัง หมู่ที่ 1ต.ตาวัง อ.บัวเชด จ.สุรินทร์ คนในชุมชนร่วมกันประกอบพิธีเซ่นไหว้บวงสรวงศาลปู่-ตาเจ้าบ้านประจำพื้นที่เป็นเดือนที่มีความพิเศษยิ่ง เพราะถือเป็นเดือนแห่งความอุดมสมบูรณ์ที่สุดของปี มีการเก็บเกี่ยวข้าวขึ้นเล้าหรือเข้ายุ้งฉางเสร็จเรียบร้อย ชาวนาบางส่วนก็ขายข้าวได้เงินได้ทองหลังจากเหน็ดเหนื่อยมาตลอดเวลาหลายเดือน เมื่อย่างเข้าสู่เดือน 3 สามารถพักผ่อนรอฤดูกาลทำนาในครั้งต่อไป ทำให้ในช่วงเวลานี้ ชาวบ้านจะเริ่มจัดงานบุญ ตอบแทนปู่-ตาเจ้าบ้านที่ปกปักรักษาให้คนในหมู่บ้าน อยู่ดีมีสุขตลอดปีที่ผ่านมา

โดยได้ประกอบพิธีแบบชาว ไทย เขมร กวย ลาว ที่อยู่ร่วมกันมาช้านาน ชาวบ้านจะร่วมกันประกอบพิธีทำบุญเลี้ยง ปู่-ตาเจ้าบ้าน นำเอาเครื่องเลี้ยง ขันธ์ 5 มีเทียน 5 คู่ ดอกไม้ 5 คู่ และขัน 8 มีเทียน 8 คู่ ดอกไม้ 8 คู่ พร้อมด้วยอาหารคาวหวาน หัวหมู ไก่ต้ม ผลไม้ และอาหารที่หาได้ตามท้องถิ่น และที่เรียบง่ายที่คนโบราณหารับประทาน ข้าวโพด มัน กล้วย น้ำผึ้ง และมีขนม น้ำ เหล้า หมากพลู และบุหรี่ นำไปเซ่นไหว้ที่ศาลปู่-ตา แต่ละครอบครัวพากันต้มไก่มาประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ เพื่อทำพิธีเสี่ยงทายโดยถอดกระดูกคางไก่ตัวที่เป็นเครื่องเซ่นออกมาดู เพื่อทำนายฝนฟ้าและน้ำท่า ซึ่งผลทำนายของปีนี้คือนำท่าอุดม ผลผลิตงอกงามดี

นายเสียร เเรงทอง ผู้ใหญ่บ้าน เผยว่า วันนี้ขึ้น 3 ค่ำเดือน3 เป็นพิธีกรรมเลี้ยงปู่-ตาของชาวส่วย (หรือชาติพันธ์กูย) และการนำข้าวเปลือกขึ้นยุ้งฉาง เพราะได้เก็บเกี่ยวผลผลิตในนาเสร็จแล้ว และเป็นการแสดงความรักความกตัญญู และความผูกพันของชาวบ้านที่มีต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว รวมถึง เป็นกุศโลบาย การส่งเสริมให้ชุมชนเกิดความสามัคคี อันจะนำไปสู่ความมั่นคง เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง และคนในชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ถือเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นพิธีเลี้ยงปู่-ตาเจ้าบ้านแล้ว ชาวบ้านจะนำอาหารที่เหลือกลับไปรับประทานที่บ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล ขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย

หลังจากชาวบ้านทำพิธีกราบไหว้ศาลปู่ตา เสร็จเเล้ว ชาวบ้านราว 20 คน ก็จะชักชวนหว่านเเหจับปลาที่หนองน้ำ(หนองลาน)ฝั่งทิศตะวันตกของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นกุดชนาดเล็กเเต่มีความลึกประมาณ 2 เมตร บรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก เมื่อถึงเวลาบรรดาเซียนจับปลาต่างโชว์ฝีมือหว่านแหกันอย่างเต็มที่ ซึ่งปลาที่ได้มีทั้งปลาขาว ปลาหมอ ปลาช่อน ปลาดุก รวมถึง ปลาเล็กปลาน้อยต่าง ๆ อีกมากมาย เพื่อเป็นกับข้าวในครอบครัว นอกจากนี้ ยังได้จัดเตรียมอุปกรณ์ปิ้งย่างและเครื่องครัวติดรถมาด้วย เพราะเมื่อจับปลาได้ก็จะแบ่งปลาส่วนหนึ่ง มาทำเมนูเด็ด อย่างปลาเผา ล้อมวงนั่งรับกินกัน เป็นการปฎิสัมพันธ์เเสดงออกถึงความกลมเกลียวความสามัคคี ความปรองดองของคนในชุมชนเดียวกัน หลังจากเหน็ดเหนื่อยจากงานไร่นา.

ภาพ/ข่าว พูนสิน ยั่งยืน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *