ข่าวภูมิภาค

กรมสุขภาพจิต ส่งทีม MCATT ลงพื้นที่เยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม

วันที่ 19 กันยายน 2567  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต มอบหมายให้ นายแพทย์จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต และ นายแพทย์โกศล วราอัศวปติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ พร้อม ทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team : ทีม MCATT) ร่วมลงพื้นที่ช่วยเหลือเยียวยาจิตใจ พร้อมมอบถุงยังชีพและยารักษาโรคให้แก่ประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่บ้านปากอูน หมู่ที่ 4 ตำบลศรีสงคราม อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม เพื่อเยี่ยมเสริมพลังใจสำหรับผู้ป่วย ญาติ และประชาชนผู้ประสบภัยในพื้นที่ จำนวน 40 ราย เป็นผู้ป่วยติดเตียง 2 ราย ผู้พิการ 3 ราย ซึ่งได้รับการดูแลโดยโรงพยาบาลศรีสงครามอย่างใกล้ชิด และมีผู้สูงอายุ 8 ราย ในจำนวนนี้พบว่ามีภาวะเครียดเล็กน้อยถึงปานกลาง 11 ราย และมีภาวะซึมเศร้า 1 ราย ทางทีมจึงได้มีการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการความเครียดเบื้องต้น รวมทั้งพูดคุยให้กำลังใจเพื่อให้ผ่อนคลายความวิตกกังวล พร้อมทั้งประสาน ทีม MCATT ในพื้นที่ติดตามและดูแลอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับความร่วมมือจาก โรงพยาบาลศรีสงคราม สำนักงานสาธารณสุขอำเภอศรีสงคราม รพ.สต.ท่าบ่อ รพ.สต.ปากยาม และเจ้าหน้าที่ อสม. เป็นต้น

โดยทาง กรมสุขภาพจิต ได้มีการจัดทำแผนการดำเนินงานไว้สี่ระยะ 1. ระยะเตรียมการ มีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน พร้อมจัดตั้งทีมเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติการ และมีการบริหารทีมโลจิสติกส์เพื่อเตรียมถุงยังชีพยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็น พร้อมสนับสนุนทีมเยียวยาจิตใจของพื้นที่ในการรับมือและดูแลจิตใจเบื้องต้น 2. ระยะวิกฤตและฉุกเฉิน (ตั้งแต่เกิดเหตุ -2 สัปดาห์) จัดทีมในระดับจังหวัดและระดับอำเภอ เพื่อร่วมคัดกรองและสำรวจภาวะความเครียดของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ การปฐมพยาบาลทางใจ (Psychological First Aid : PFA) การดูแลสุขภาพจิตตามระดับความเสี่ยงในการประสบเหตุการณ์วิกฤต การเฝ้าระวังผู้ป่วยจิตเวชไม่ให้ขาดยาและจัดส่งยาในพื้นที่ภัยพิบัติ รวมทั้งการสื่อสารเพื่อสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตให้กับประชาชนเพื่อให้เกิดตระหนักแต่ไม่ตระหนก 3. ระยะหลังได้รับผลกระทบ (2 สัปดาห์ – 3 เดือน) จะเป็นการติดตามกลุ่มเสี่ยงเดิมจากระยะวิกฤตฉุกเฉิน การประเมินสุขภาพจิตซ้ำในรายเก่าและค้นหากลุ่มเสี่ยงรายใหม่ที่อาจเกิดปัญหาสุขภาพจิตภายหลัง และการเยียวยาจิตใจกลุ่มเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตในระยะกลาง-ยาว โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยเหลือ (helper) 4. ระยะฟื้นฟู (หลังเกิดเหตุการณ์ 3 เดือน) โดยในระยะนี้จะเป็นการติดตามประเมินกลุ่มเสี่ยงเดิมจนหมดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิต การเฝ้าระวังโรคเครียดภายหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (PTSD) รวมทั้งการส่งเสริมความเข้มแข็งทางใจและวัคซีนใจชุมชน เป็นต้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *