ข่าวความเชื่อ/ศรัทธา

ขนลุก! สาวสุรินทร์ ถูกเจ้าที่ทวงเครื่องเซ่น หลังบนบานให้น้องปลอดภัยจากการผ่าตัด

วันที่ 26 มิถุนายน 2567 ที่ศาลปู่ตาประจำหมู่บ้านฉลีก ม.5 ต.ตรวจ อ.ศรีณรงค์ จ.สุรินทร์ น.ส.กมลชนก บุญเสก ร่วมกับชาวบ้านฉลีก พร้อมด้วยนางรำจากกลุ่มแม่บ้านอีก 9 คน ได้นำเครื่องคาวหวาน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และหัวหมูอีก 1 หัว มาประกอบพิธีเซ่นศาลปู่-ตา เพื่อแก้บน หลังจากก่อนหน้านี้ นายทวี บุญเสก หรือที่ผู้คนเรียกว่า กำนันตุ้ม อดีตกำนันตำบลตรวจ ได้ตรวจพบโรคมะเร็งไส้ติ่งระยะสุดท้าย และเข้ารับการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อร้ายออก ซึ่งใช้เวลาพักฟื้นต่ออีกหลายวัน

ซึ่งขณะก่อนจะเข้ารับการผ่าตัดนั้น น.ส.กมลชนก บุญเสก เป็นพี่สาวของ นายทวี บุญเสก(ผู้ป่วย) ได้เดินทางมาบนบานไว้กับศาลปู่ตาดังกล่าว เพื่อขอให้น้องชายปลอดภัยและหายจากโรคภัยไข้เจ็บกลับมาใช้ชีวิตปกติโดยเร็ว ปรากฎว่า ทีมแพทย์ได้ผ่าตัดช่วยสุดความสามารถจน นายทวี บุญเสก(ผู้ป่วย) นั้นกลับออกมาพักฟื้นอยู่บ้าน จนอากาศป่วยดีขึ้นตามลำดับ และได้จัดพิธีบายศรีรับขวัญเรียกขวัญให้กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวที่บ้านตามความเชื่อ โดยมีนางรำบายศรีและนางรำแกล-มอ มารำถวาย เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ที่ผ่านมา

และวันนี้ หลังจากประกอบพิธีเซ่นไหว้ศาลปู่ตา เพื่อแก้บนแล้ว ชาวบ้านก็ไม่พลาดจะต้องขอโชคลาภก่อนวันประกาศผลสลากกินแบ่งรัฐบาล ประจำงวดวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 โดยได้จุดธูปเสี่ยงทาย ได้เลขเด็ด 3 ตัว คือ 825 ไม่แค่นั้น ยังได้มีชาวบ้านที่มาร่วมพิธี ตาดี เห็นลวดลายบนหัวหมูมีลักษณะคล้ายตัวเลข มีอยู่ 3 ตัวด้วยกันคือ 159 อีกด้วย

น.ส.กมลชนก บุญเสก กล่าวว่า ที่ตนเองไปบนไว้ จนน้องชายอาการดีขึ้นตามลำดับ แต่ก็ยังไม่ได้ไปแก้บนซักที โดยมีอยู่คืนหนึ่ง ขณะที่ตนเองนอนหลับก็ได้ฝันเห็น ปู่-ตาเจ้าที่ มาทักท้วงว่าเมื่อไหร่จะเอาเครื่องเซ่นมาให้ และเสียงทักท้วงก็รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ตัวเองผวาจนต้องกรีดร้องออกมาเหมือนคนนอนละเมอ ทำให้ นายทวี (ผู้ป่วย) ที่นอนในห้องต้องลุกขึ้นมาดู ตนจึงเชื่อว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์มีอยู่จริง จึงได้จัดพิธีบวงสรวงเซ่นไหว้ในวันนี้

สำหรับ นายทวี บุญเสก หรือ ที่ผู้คนรู้จักโดยทั่วไปว่า กำนันตุ้ม ซึ่งมีอีกหนึ่งฉายาว่า ตุ้ม กอนกวย นอกจากจะเป็นอดีตผู้ใหญ่บ้าน และอดีตกำนันแล้ว ยังเป็นศิลปินนักร้องนักแต่งเพลงพื้นบ้านภาษากูย ที่เป็นการอนุรักษ์สืบสานศิลปะและวัฒนธรรมทางด้านภาษาให้คงอยู่สืบต่อรุ่นลูกหลานต่อไป ซึ่งก็มีผลงานออกมาให้เห็นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเพลง แกล-มอ , เพลง อา-จอ-จา-ฉิม(หมากินหมด) , เพลง สมใจผ้าไหมสุรินทร์ , เพลง กำลังใจให้สาวรามฯ , เพลง ความหวังสุดท้าย , เพลง จำมองลบดุง เป็นต้น ที่เป็นการบอกเล่าเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นถิ่น สื่อออกมาเป็นบทเพลงอันไพเราะ อีกทั้งยกระดับภาษากูยให้ผู้คนรู้จักมากยิ่งขึ้นอีกด้วย.

https://www.youtube.com/watch?v=E9vnhnGza00

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *